ความเป็นมาของศาลหลักเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช สมจิตร ทองสมัคร
ช่วงประมาณ พ.ศ.2528 จังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดภาวะ วิกฤตอย่างหนักโจรผู้ร้ายคดีอาชญากรรม สุจริตชนไม่เป็นอันทำมาหากินผู้คนถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ ไม่ก็จี้ปล้นอยู่บ่อยๆ ท่าน พ.ต.อ.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ซึ่งเป็นนายตำรวจฝีมือดี ได้ย้ายมาประจำเมืองนครศรีฯ ต่อมามีเหล่าพ่อค้าคนจีนที่สนิทกันประมาณ 4-5 คนซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มักชอบเรื่องเสี่ยงโชค เรื่องลาภผลต่างๆ มีคนหนึ่งได้ทรงเจ้า(ไม่ใช่หาหวยเบอร์นะครับ) ถิ่นที่ไปดำเนินการเป็นประจำคือ วัดนางพระยา บ้านปากนครโดยท่านสรรเพชรขอติดตามไปสังเกตการณ์ด้วย คืนหนึ่งได้มี วิญญาณมาประทับทรง และบอกว่า "กูคือพระยาชิงชัย เป็นแม่ทัพรักษาเมืองด้านทิศตะวันออก " ท่านสรรเพชญไม่เชื่อจึงได้จุดธูป1กำมือ จ่อทิ่มไปที่ตัวคนทรง ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าอาการสะดุ้ง หรือมีแผลพุพองแต่ประการใด "เออ มึงไม่เชื่อ เอาอย่างนี้ดีกว่า มึงไปเอาดาบที่กุฏิท่านสมภารมา กูจะสักกระหม่อมให้ดู" หนึ่งในคณะได้ไปนำดาบที่กุฏิสมภาร ตามคำสั่ง (แปลกที่ดาบนั้นมีอยู่จริงโดยที่ไม่มีใครทราบมาก่อน) เมื่อนำมาส่งให้คนทรง คนทรงได้จับดาบชูขึ้นเอาปลายแหลมลงแล้วทิ่มแทงลงบนศรีษะของตนเองอย่างน่าหวาดเสียว เสียงดัง ฉึก ฉึก ฉึก! ปรากฏว่าดาบแทงไม่เข้า เหตุอัศจรรย์ในคืนนั้น แต่ละคนต่างงงไปตามๆกัน องค์ในร่างทรงยังบอกอีกว่า หากพวกมึงต้องการตัวเลข ให้ไปเอาที่ศาลาท่าน้ำของวัด โดยเขียนใว้ใต้หลังคา
คืนที่ 2 ท่านสรรเพชญได้ร่วมเดินทางไปอีกครั้ง คราวนี้องค์ที่มาประทับทรง บอกว่า "กูใหญ่กว่าอ้ายชิงชัย มันมาโม้ให้พวกสูฟัง กูนี่แหละใหญ่กว่ามึงไปหากระดาษมาวาดใบหน้ากู กูจะบอกลักษณะ แล้วพวกสูพาไปถามอ้ายหนวดดู อ้ายหนวดรู้จักกูดี " "อ้ายหนวดคือใคร" ท่านสรรเพชญถาม "มึงผันหน้าตอนนั่งทำงานไปทางไหน บ้านมันก็อยู่ทางนั้นแหละ ไปหามันได้" พวกในคณะพอจะทราบแล้วว่า อ้ายหนวด คือ ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช
รุ่งขึ้นอีกวัน ท่านสรรเพชญและคณะพากันไปที่บ้านท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพักซอยราชเดช หลังจากทำความเคารพและแนะนำตัวกันแล้ว ท่านขุนพันธ์ฯจึงถามถึงกิจธุระ ท่านสรรเพชญได้ยื่นกระดาษที่เขียนภาพใบหน้าของดวงวิญญาณในร่างทรงเมื่อคืนนี้ให้ดู พร้อมกับถามว่า " นี่คือรูปของใครครับ " ท่านขุนพันธ์ยกรูปขึ้นดูก็ตกใจ ทำรูปหล่นลงพื้นทันที พร้อมกับถามว่า "ท่านผู้กำกับนำรูปนี้มาจากไหน รูปนี้เป็นอดีตกษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัยมีพระนามว่า จตุคามรามเทพ หรือ จันทรภาณุ " ท่านสรรเพชญ จึงเล่าความเป็นมาต่างๆให้ท่านขุนพันธ์ฯทราบ
คืนที่ 3 ณ วัดนางพระยา องค์จตุคามที่ท่านขุนพันธ์ฯ บอกได้เสด็จมาประทับทรงอีก กิริยาท่าทางดุมาก และบอกว่า * บ้านเมืองลุกเป็นไฟ กูรอมึงมาเป็นพันปีแล้ว กูอยากให้ช่วยสร้างหลักเมือง ทำจากไม้ตะเคียนทองงอกอยู่ทางทิศเหนือของเมืองนครศรีฯ บัดนี้มันรอมึงอยู่ * องค์จตุคามบอกและอธิบายอีกว่า
ในตอนนี้เราต้องทำพิธีกรรมก่อน มีหลายพิธีที่ต้องใช้เวลา เช่น พิธีกรรมเทพชุมนุมตัดชัย ทำในวิหารหลวง ให้ปักธงศรีวิชัยขึ้นห่มพระธาตุ เป็นนัยว่า เราเปิดธงรบกับพวกเหล่าร้าย เช่นพวกโจร หรืออาถรรพณ์จัญไรต่างๆ ที่รบกวนเมืองนครฯ"
หลักเมืองนครศรีธรรมราช
ทำไมต้องสร้าง หลักเมืองนคร : ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองนครศรีธรรมราชเคยมีชื่อว่า กรุงศรีธรรมโศกหรือกรุงตามพรลิงค์แต่ตำนานไทยเหนือเรียกว่า เมืองศิริธรรมนคร กรุงศรีธรรมโศก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน คงทราบข้อความจากคัมภีย์เก่าแก่ของชาวอินเดียสมัยต้นพุทธกาลเรียกว่า เมืองท่าตมะลีบ้าง เมืองท่ากมะลีบ้าง จนกระทั่งในราว พ.ศ. 1150 จดหมายเหตุจีนกล่าวถึง เซียะโท้วก๊ก แปลว่า ประเทศดินแดง ซึ่งจักรพรรดิจีนส่งราชทูตเดินทางมาติดต่อทางพระราชไมตรี ต่อมาภิกษุจีนผู้คงแก่เรียนมีชื่อว่า หลวงจีนอี้จิง เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียใน พ.ศ. 1214 ได้แวะมาศึกษาภาษาสันสกฤตที่เมืองโฟชิ จึงทราบว่าบ้านเมืองทั้งหลายในคาบสมุทรภาคใต้ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐที่มีอำนาจทางทะเล หลวงจีนอี้จิง จึงขนานนามว่า ประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาณาจักรศรีวิชัย
นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมากในเรื่องที่ตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เมื่อ พ.ศ.1710 ศิลาจารึกหลักที่ 35 พบที่บ้านคงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงการแผ่ขยายอำนาจของพระเจ้ากรุงศรีธรรมโศก ขึ้นไปครอบครองดินแดนในแถบภาคกลางของประเทศไทย ต่อจากนั้นดินแดนแถบนี้กลับตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร ครั้นใน พ.ศ. 1773 ศิลาจารึกพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช กล่าวว่าพระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพกรุงตามพรลิงค์กลับคืนมาได้ ภายหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว อนุชาของพระองค์เสวยราชสมบัติ ตำนานกล่าวว่า
พญาจันทราภาณุผู้น้องเป็นพระยาแทนพญาจันทรภาณุเป็นพระยาอยู่ได้ 7 ปี เกิดไข้ยมบนลงทั้งเมืองคนตายวินาศประลัย พญาจันทรภาณุ พญาพงศาสุราหะอนุชา และมหาเถรสัจจานุเทพ กับคอรบครัวลงเรือหนีไข้ยมบน ไข้ก็ตามลงเรือ พญาและลูกเมียตายสิ้น พระมหาเถรสัจจานุเทพก็ตาย เมืองนครทิ้งร้างเป็นป่ารังโรมอยู่หึงนาน
หลักฐานเท่าที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงแสดงให้เห็นว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือ กรุงตามพรลิงค์ หรือ เมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย แล้วล่มสลายไปเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถูกทิ้งร้างจมอยู่กลางป่าอยู่เป็นเวลานานจนกระทั่งพวกเจ้าไทยลงมาปกครองและพื้นฟูบูรณาการบ้านเมืองขึ้นใหม่ ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช
ไม่มีใครทราบว่าในการฟื้นฟูบูรณาการกรุงศรีธรรมโศก และพระมหาธาตุเจดีย์ ขึ้นใหม่ในครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือความเป็นมาแท้จริงอย่างไร คงทราบความจากตำนานแต่เพียงว่า พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงโปรดให้มีตรามาเกณฑ์ผู้คนสร้างเมืองนครศรีธรรมราช และพระธาตุจนสำเร็จเสร็จสิ้นในสมัยขุนอินทราราเป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีมหาราชา จนกระทั้งชาวนครศรีธรรมราชผู้หนึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชเก่า จดบันทึกไว้ในสมุดข่อยในหอสมุดแห่งชาติ จึงนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเก่าสถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัส แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปี เถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับ พ.ศ. 1830
เมื่อพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช และพลตำรวจโทสรรเพชญ ธรรมาธิกุล ตรวจสอบรูปดวงชะตาเห็นว่ากรุงศรีธรรมโศกและดินแดนภาคใต้ถูกสาป จึงร่วมกันหาทางแก้ไข รายงานให้คณะกรรมการจัดสร้างสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชทราบ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรสร้าง"หลักเมืองนครศรีธรรมราช"ขึ้น เพื่อล้างมนตราอาถรรพณ์แห่งคำสาปใน พ.ศ. 2530
หลักเมือง 2530 ลำดับขั้นตอนการสร้างหลักเมือง นครศรีธรรมราช
โดย ฉัตรชัย ศุกระกา

1. คณะอนุกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในคณะกรรมการการส่งเสริมการท่องเที่ยว จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีนายอเนก สิทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีมติให้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น ในคราว ประชุมวันที่ 14 มกราคม 2528 ในการนี้ ได้มอบหมาย ให้พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8) พันตำรวจเอก สรรเพชญ ธรรมาธิกุล (ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช) และพระเทพราภรณ์ เจ้าวาสวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จัดตั้งคณะทำงานจัดสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น
2. คณะทำงานดังกล่าวได้เริ่มต้นจัดงานไม้ตะเคียนทองมาเพื่อสร้างเป็นเสาหลักเมืองโดยมาจาก ยอดเขาเหลืองเดิมกำหนดจะจัดทำในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หลายคนเห็นว่าจะไม่สะกวดในการปฏิบัติจึงเปลี่ยนไปใช้สถานที่พักผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด นครศรีธรรมราช


3. เสาหลักเมืองมีรูปแบบและขนาดความกว้างยาวเป็นไปตามหลักการตามที่พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชแนะนำ คือ เสาแกะสลักเป็นลวดลายเป็นศรีวิชัย ประกอบด้วยอักขระโบราณยอดเสาเป็นเศียรพระพรหมแปดเศียรซ้อนกันสองชั้น (ชั้นละสี่เศียร) ยอดบนสุดเป็นยอดชัยหลักเมืองหุ้มด้วย ทองคำ





4. เพื่อให้ถูกตามธรรมเนียมนิยม จึงกำหนดให้มีพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องสองพิธีคือ
4.1 พิธีฝังหัวใจสมุทรและฝังหัวใจเมืองประธานในพิธีคือ นายอเนก สิทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับมอบหมายจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยประกอบพิธีที่สี่แยกคูขวาง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529
4.2 พิธีเบิกเนตรหลักเมือง เจ้าพิธีคือพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดชจัดพิธี ณ พบริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530

5. จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับเกียรติจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบหลักเมืองให้แก่ทางราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช (นายสุกรี รักษ์ศรีทอง)เป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530

6. ในระหว่างดำเนินการสร้างหลักเมือง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสุกรี รักษ์ศรีทอง)กับผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด (พันตำรวจเอกสรรเพชญ ธรรมาธิกุล) และรุนแรง ขึ้นจนกระทรวงมหาดไทยได้โยกย้ายคู่กรณี และแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด (ร้อยตรี อำนวย ไทยานนท์) รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด
7. จังหวัดได้รายงานให้กระทรวงมหาไทยกราบบังทูลเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อทรงประกอบพิธีนำกลีบบัวทองคำขึ้นประกอบปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ และทรงเจิมทรงพระสุหร่ายยอดชัยหลักเมืองในการนี้ได้เสนอวันอันเป็นมงคลไปด้วย คือวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานยกกลีบบัวทองคำขึ้นประกอบปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อน วันที่ 3 สิงหาคม 2530
8. ปลายเดือนกรกฎาคม 2530 กระทรวงมาหาดไทยแจ้งจังหวัดว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จังหวัดนำยอดชัยหลักเมืองเข้าไปยังตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทรงเจิมทรงพระสุหร่ายในวันที่ 3 สิงหาคม 2530 เวลาประมาณ 16.00 น.
9. จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะประกอบด้วยนายสัมพันธ์ ทองสมัคร (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) นายกำจร สถิรกุล(ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) นายอนันต์ อนันตกุล (เลขาธิการคณะรัฐมนตรี) นายศิริชัย บุลกุล(วุฒิสมาชิก) เข้าเฝ้าโดยมีนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดการะทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำเข้าเฝ้าในโอกาสนี้ข้าราชการและประชาชนผู้ร่วมจัดสร้างหลักเมือง ได้นำเอาวัตถุมงคลและผ้ายันต์จำนวนมากทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายด้วยในวันนั้นพระบาทสุหร่าย หลักเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกับหลักเมือง จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดชัยนาทด้วย

10. วันที่ 4 สิงหาคม 2530 คณะได้นำยอดชัยหลักเมืองกลับจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยทางเครื่องบินมีขบวนช้างม้า และประชาชนจำนวน นับหมื่นคนจัดขบวนต้อนรับแห่จากท่าอากาศยานกองทัพภาพที่ 4 มาสู่ที่ตั้งหลักเมืองในปัจจุบันนี้






11. จังหวัดได้ประกอบพิธีอัญเชิญหลักเมืองขึ้นสู่ศาลถาวร โดยนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ( ผู้ว่าราชการจังหวัด)เป็นประธาน

12. ได้ทำการก่อสร้างศาลหลักเมืองขึ้นในที่ดินราชพัสดุตามที่ทางจังหวัดขออนุญาต โดยสร้างเป็นศาลด้วยทรงเหมราชลีลา ก่ออิฐถือปูน สามชั้น ส่วนยอดบนเป็นทรงแหลม ภายในศาลพื้นปูด้วยหินอ่อนฝาผนังจากพื้นขึ้นมาหนึ่งเมตรปูด้วยหินอ่อน มีการสลักดุนประวัติความ เป็นมาของหลักเมือง มีบันไดขึ้นลงทั้งสี่ด้าน เชิงบันไดเป็นรูปพญางูทะเลแผ่แม่เบี้ยรอบศาลหลักเมืองมีศาลเล็กสี่มุม รูปทรงเป็นลักษณะเช่นเดียวกับศาลหลักเมือง แต่ลดขนาดลง
13. การก่อสร้างศาลหลักเมือง ก็ดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง โดยมีรายได้จากเงินบริจาค จากศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาบางท่านบริจาคเป็นวัสดุ ก่อสร้าง มีการจำหน่ายวัตถุมงคลธูปเทียนและทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นายอำนวย ไทยานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ประสานงานดำเนินการเกี่ยวกับศาลหลักเมืองเต็มตัว
14. วันที่ 31 ตุลาคม 2531 จัดพิธีสวมยอดชัยหลักเมือง โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร รองผู้บัญชาการทหารบก(ตำแหน่งในเวลานั้น)

15. ล่วงถึงปีพุทธศักราช 2535 การก่อสร้างศาลหลักเมืองแล้วเสร็จประมาณ 35% สิ้นเงินประมาณ 4 ล้านบาท การก่อสร้างยังคงดำเนินการต่อไปแต่ไม่อาจจะเร่งงานได้ เพราะฤดูฝนเป็นอุปสรรค นอกจากนั้นต้องดำเนินการตาเวลาฤกษ์อันเป็นมงคลตามที่ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดชกำหนด การก่อสร้างโดยการจ้างแรงงาน และวัสดุก่อสร้างเป็นของคณะทำงานก่อสร้างหลักเมือง และผู้มีจิตศรัทธา
16. งานก่อสร้างศาลหลักเมืองชะงักไประยะหนึ่ง คือในช่วง พ.ศ. 2536-2540 พ.ศ. 2541 ในสมัยที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐมาดำรง ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พิจารณาเห็นว่าปูชนียสถานแห่งนี้ควรจะได้รับการบูรณะให้เสร็จสิ้นสมบรูณื เป็นศรีสง่าและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองอีกแห่งหนึ่ง จึ่งจัด โครงการบูรณะก่อสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อให้แล้วเสร็จทันการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ครบ 72 พรรษา พร้อมกันนั้นได้ แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณะก่อสร้างศาลนี้ตามคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ 235/2541 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 กรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์หาทุนออกแบบและและควบคุมการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องและ รายงานผลการดำเนิน งานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน
17. ยังมิทันที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์นายยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะเดียวกัน กระทรวงก็แต่งตั้งนายสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแทน
18. นายสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สานต่อดครงการบูรณะศาลหลักเมืองจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ และกราบบังคมกูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลในวันที่หนึ่งสุดแต่พระราชอัธยาศัย
19. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเก้ลาโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระอฃค์ทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2543 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง ท่ามกลางความปลาบปลื้มปิติยินดีของ พสกนิกรเป็นล้นพ้น
|